รัสเซียยังกุมความได้เปรียบ
นักวิเคราะห์มองว่าการเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป หรืออียู ในการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับยูเครน, มอลโดวา และจอร์เจีย อดีต 3 ประเทศในสหภาพโซเวียต ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แต่เกมชักเย่อของรัสเซีย เหนือเขตอิทธิพลของอดีตสหภาพโซเวียต คงยังไม่จบในเร็ววันนี้ ข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของรัสเซียและอียูได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกัน รัสเซียจะใช้ทุกโอกาสที่มีเพื่อขัดขวางการเข้าร่วมอียูของทั้ง 3 ประเทศ มาเรีย ลิปแมน ศูนย์คาร์เนกี มอสโก กล่าวว่า รัสเซียมีทางเลือกมากมายในการใช้ทั้งพระเดชและพระคุณกับ 3 ชาตินี้รัสเซียแย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อบรรดาผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ เนื่องจาจะเปิดโอกาสให้ยูเครนนำเข้าสินค้าของยุโรปได้อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศุลกากรที่ไม่มีความเข้มงวดกวดขันของพวกเขา ทำเนียบเครมลินเสียเวลาทั้งวันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไปกับการเตือนว่า รัสเซียอาจมีมาตรการทางกรค้าเพื่อตอบโต้
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีปูติน แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า มีความเป็นไปได้ที่เราต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของเรา ขณะที่ วาซิลี เนเบนซ์ยา รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของหมีขาวกล่าวว่า รัสเซียอาจเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจากยูเครน นั่นจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อยูเครนเอง ซึ่งส่งออกสินค้าประมาณ 1 ใน 4 ไปยังรัสเซีย ซึ่งรวมทั้งจากอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกของประเทศด้วย
ข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูฉบับนี้นี่แหละที่เป็นหัวใจของวิกฤตในยูเครนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนายวิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้น ถอนตัวจากการลงนามในนาทีสุดท้าย และบินไปยังรัสเซียเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับเครมลินแทน ซึ่งแน่นอนว่ารัสเซียชื่นชมการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้รัสเซียหว่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้ยูเครน และแสดงความยินดีที่ยูเครนเข้าร่วมสหภาพศุลกากร ซึ่งในที่สุดแล้วจะพัฒนาเป็นสหภาพยูเรเซียของสาธารณรัฐในอดีตสหภาพโซเวียต ที่ออกแบบมาเป็นคู่แข่งของสหภาพยุโรป
แต่ขั้นตอนเหล่านี้กลับจุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติในยูเครน และรัฐบาลชุดใหม่ในกรุงเคียฟ ก็ทำลายความหวังสหภาพยูเรเซียของปูตินพังย่อยยับ เลยทำให้เขาใช้โอกาสดังกล่าวเข้าควบคุมคาบสมุทรไครเมีย ขณะที่คะแนนนิยมของเขาในรัสเซียก็พุ่งพรวดตามไปด้วย
คอนสแตนติน โคซาเชฟ จากสถาบันวิชาการ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงกรณีการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีนั้น ปฏิกิริยาในรัสเซีย จะไม่มีทางเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์แน่ แต่รัสเซียยังคงรักษาอิทธิพลที่มากล้นในมอลโดวา, จอร์เจีย และยูเครนได้อยู่ เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศยังต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย และยังมีหลายภูมิภาคที่สนับสนุนรัสเซียใน 3 ประเทศนี้ ต้องการแยกตัวออกจากประเทศของพวกเขา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปูตินสั่งให้สภาตรายางของเขา ยกเลิกมติให้อำนาจเขาแทรกแซงทางทหารในยูเครน แต่ก็อาจกลับมาขอคืนอำนาจนี้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง และเขาแสดงท่าทีชัดเจนว่า รัสเซียสงวนสิทธิในการป้องกันประชาชนที่พูดรัสเซียทั่วอดีตสหภาพโซเวียต
ยุทธศาสตร์ของรัสเซียขณะนี้จะเป็นการแสดงให้อียูเห็นว่า ยูเครนเป็นประเทศที่อ่อนแอประเทศหนึ่ง ซึ่งควบคุมดินแดนของตัวเองไม่ได้ เพื่อดิสเครดิตยูเครน ที่จะเป้นหุ้นส่วนของชาติตะวันตก นอกจากนี้รัสเซียจะยังคงมีแหล่งก๊าซสำรอง เพื่อรักษาอิทธิพลเหนือยุโรป ต่อรองไม่ให้ยูเครน จอร์เจีย หรือมอลโดวา เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
และที่สำคัญ ทั้ง 3 ประเทศนี้ ต้องเข้าใจว่า ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ชาติตะวันตกจะไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้อย่างแท้จริง
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ สังคมโลก