นิทานธรรมชาดก เรื่อง โทษแห่งความหลงเชื่อ (กระต่ายตื่นตูม)
ตัวอย่างซึ่งจะยกมาแสดงนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีโน้น พระโพธิสัตว์เจ้าเกิดในกำเนิดราชสีห์ เมื่อเติบโตแล้วก็อาศัยอยู่ในป่า คราวนั้นมีป่าตาลเจือกับป่าไผ่อยู่ในที่ใกล้ทะเลทางตะวันตกแห่งกรุงพาราณสี มีกระต่ายตัวหนึ่งนอนอยู่ที่โคนต้นมะตูมต้นหนึ่งเสมอ อยู่มาวันหนึ่งเมื่อกระต่ายตัวนั้นกลับมาจากหากินแล้ว ก็ไปนอนอยู่ใต้ใบตาลแล้วคิดว่า ถ้าแผ่นดินนี้พลิก เราจะไปที่ไหน ในขณะนั้นมีมะตูมสุกลูกหนึ่งหล่นลงมาถูกใบตาล กระต่ายตัวนั้นก็เข้าใจว่าแผ่นดินพลิกแน่ จึงลุกขึ้นวิ่งอย่างไม่เหลียวหลังกระต่ายอีกตัวหนึ่ง ได้เห็นกระต่ายตัวนั้นวิ่งหนีอย่างรวดเร็วผิดปกติ จึงถามว่า ท่านวิ่งหนีด้วยกลัวอะไร กระต่ายตัวนั้นตอบว่าอย่าถามเลย แล้วกระต่ายตัวที่ถามนั้นก็วิ่งตามไป กระต่ายตัวก่อนจึงได้ร้องบอกมาโดยไม่หันหลังว่า แผ่นดินพลิก แล้วกระต่ายตัวที่ถามก็วิ่งหนีตามหลังกระต่ายตัวนั้นไป โดยนัยนี้กระต่ายได้วิ่งหนีตามกันไปตั้งพันๆ มีเนื้อตัวหนึ่งได้เห็นฝูงกระต่ายนั้นวิ่งหนีก็วิ่งหนีตาม สุกรตัวหนึ่ง ละมั่งตัวหนึ่ง กระบือตัวหนึ่ง วัวกระทิงตัวหนึ่ง แรดฝูงหนึ่ง เสือโคร่งฝูงหนึ่ง ราชสีห์ฝูงหนึ่ง ช้างฝูงหนึ่ง ต่างได้เห็นแล้วถามว่า นั่นอะไรกัน เมื่อพวกนั้นตอบว่า ที่โน่นแผ่นดินพลิก ก็พากันวิ่งหนีไปด้วยอาการอย่างนี้ พวกสัตว์ป่าที่วิ่งหนีได้เต็มไปตลอดที่ประมาณหนึ่งโยชน์ คราวนั้นราชสีห์โพธิสัตว์ได้เห็นสัตว์พวกนั้นกำลังวิ่งหนีมา จึงออกไปขวางหน้า แล้วถามว่า อะไรกัน
พอได้ทราบว่าที่นั้นแผ่นดินพลิก เจ้าสัตว์พวกนี้คงจะได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นแน่ ถ้าเราไม่ช่วยสัตว์ทั้งปวงก็จะถึงซึ่งความพินาศ เราจะช่วยชีวิตสัตว์ทั้งปวงไว้ คิดแล้วจึงวิ่งไปที่เชิงภูเขาซึ่งอยู่ข้างหน้า แห่งสัตว์จำพวกนั้นด้วยกำลังเร็ว พอวิ่งไปถึงเชิงภูเขานั้นแล้ว จึงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังถึงสามครั้ง สัตว์เหล่านั้นกลัวตามเพราะได้ยินเสียงราชสีห์ ก็พากันหันหน้ากลับไปยืนรวมกันเป็นหมู่ ราชสีห์โพธิสัตว์จึงเลี้ยวกลับไป พอไปถึงก็เข้าในระหว่างฝูงสัตว์เหล่านั้นแล้วถามเป็นลำดับไปว่า พวกท่านวิ่งหนีอะไร พอสัตว์พวกนั้นตอบว่าแผ่นดินพลิก ท่านก็ถามว่า ใครเห็นแผ่นดินพลิก ได้รับคำตอบว่าช้าง จึงถามช้างว่าได้เห็นที่ไหน
ช้างตอบว่าไม่ทราบ เรื่องนี้ราชสีห์รู้ดี พวกราชสีห์ก็ตอบว่าไม่รู้ พวกเสือโคร่งรู้ พวกเสือโคร่งก็ตอบว่า พวกข้าพเจ้าก็ไม่รู้แต่พวกแรดรู้ พวกแรดก็ตอบว่า พวกโครู้ พวกโคก็ตอบว่าพวกกระบือรู้ พวกกระบือก็ตอบว่า พวกละมั่งรู้ พวกละมั่งก็ตอบว่าพวกสุกรรู้ พวกสุกรก็ตอบว่าพวกเนื้อรู้ พวกเนื้อก็ตอบว่า ถึงพวกข้าพเจ้าไม่รู้พวกกระต่ายรู้ จึงถามพวกกระต่าย พวกกระต่ายก็ชี้กระต่ายตัวนั้นให้ดูว่ากระต่ายตัวนี้แหละเป็นผู้รู้เห็น ลำดับนั้นราชสีห์โพธิสัตว์จึงถามกระต่ายตัวนั้นว่า เจ้าได้เห็นแผ่นดินพลิกหรือ
กระต่ายตัวนั้นตอบว่าได้เห็น เจ้าได้เห็นอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าอยู่ที่ป่าตาลอันเจือด้วยป่าไผ่ ทางริมทะเลด้านตะวันตก ข้าพเจ้านอนอยู่ใต้ใบตาลที่โคนไผ่ในที่นั้น ขณะที่ข้าพเจ้านอนอยู่ ข้าพเจ้าได้คิดว่า ถ้าแผ่นดินพลิกเราจักไปไหน ขณะนั้นก็ได้ยินเสียงแผ่นดินพลิกจึงได้วิ่งหนี ราชสีห์จึงคิดว่ามะตูมสุกคงจะหล่นลงมาถูกใบตาลใบนั้นแล้วมีเสียงดังอย่างน่ากลัวขึ้น กระต่ายตัวนี้ได้ยินเสียงนั้นจึงเข้าใจว่าแผ่นดินพลิก แล้วได้วิ่งหนีมา เราจะไปดูให้รู้แน่คิดดังนี้แล้วจึงบอกกระต่ายตัวนั้นว่า เจ้าลงพาเราไปดู แล้วสั่งสัตว์ทั้งปวงไว้ว่า เราจะไปดูที่กระต่ายตัวนี้เห็น ให้รู้ว่าแผ่นดินพลิกจริงหรือไม่แล้วจะกลับมา พวกท่านจงอยู่ที่นี่จนกว่าเราจะกลับมา ว่าแล้วก็ให้กระต่ายขึ้นหลัง แล้วก็แล่นไปโดยเร็ว
พอไปถึงป่าตาลก็ให้กระต่ายลงจากหลัง บอกว่าเจ้าจงไปชี้ที่เจ้าเห็นแผ่นดินพลิกให้เราดู กระต่ายบอกว่าข้าพเจ้าไม่อาจไปได้ ราชสีห์จึงว่าอย่ากลัวเลย กระต่ายตัวนั้นไม่อาจเข้าไปใกล้ต้นมะตูมได้ได้เพียงแต่ยืนอยู่ห่างๆ ชี้บอกว่า ที่โน่นแน่ะข้าพเจ้าได้ยินเสียงน่ากลัว ราชสีห์จึงไปที่โคนต้นตาล ก็ได้เห็นมะตูมสุกอยู่บนใบตาล ซึ่งกระต่ายนอนซ่อนอยู่ภายใต้ จึงรู้ว่าไม่ใช่แผ่นดินพลิกจริง แล้วให้กระต่ายตัวนั้นขึ้นหลังแล่นกลับมาแจ้งแก่ฝูงเนื้อโดยเร็วพลัน ทำให้ฝูงเนื้อหายกลัวแล้วก็ปล่อยไป ถ้าในคราวนั้นไม่มีราชสีห์โพธิสัตว์ สัตว์ป่าทั้งปวงก็จะพากันแล่นไปตกทะเลตายสิ้น สัตว์ทั้งปวงได้ชีวิตเพราะอาศัยราชสีห์โพธิสัตว์
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า กระต่ายได้ยินเสียงมะตูมหล่นก็วิ่งหนีไปด้วยความกลัว หมู่สัตว์ป่าได้ยินถ้อยคำของกระต่ายก็พลอยตกใจวิ่งหนีไปตามกัน ผู้หลงเชื่อผู้อื่นโดยยังไม่ได้ใคร่ครวญให้ดี จัดว่าเป็นคนโง่เขลา เชื่อแต่เขาว่าฝ่ายเดียวทั้งนั้น พวกใดประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยปัญญา ยินดีในความสงบ งดเว้นจากความชั่วให้ห่างไกล พวกนั้นย่อมไม่เชื่อผู้อื่น ดังนี้ เมื่อท่านได้อ่านได้ฟังเรื่องนี้ตลอดแล้วก็จะเห็นได้ว่า การเชื่อผู้อื่นง่ายๆ โดยยังไม่ได้ตรึกตรองด้วยสติปัญญาของตน จนได้เห็นเหตุผลแจ่มแจ้งนั้น ย่อมประสบความเสียหาย ส่วนผู้ที่มีปัญญาไม่เชื่อใครง่ายๆ ต่อมาเมื่อมีเหตุผลเพียงพอจึงเชื่อ ย่อมไม่สู้ได้ประสบความเสียหาย เพราะฉะนั้นขอลงสอนตัวท่านเองไว้ว่า อย่าหลงเชื่อง่าย ดังกระต่ายตื่นตูมเป็นอันขาด ดังนี้ จึงจะเป็นการดี ถ้าเราหลงเชื่อง่ายในเรื่องใด เราก็ต้องเสียในเรื่องนั้น ฯ