นิทานธรรมชาดก เรื่อง คนไม่ดี ๔ จำพวก
เมื่อครั้งก่อนโน้น พระโพธิสัตว์เจ้าได้เกิดเป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยของพระเจ้าพรหมทัต ครั้งนั้น ราชปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตนั่งรถไปบ้านส่วยของตน ขับรถไปในทางแคบพบพวกเกวียนหมู่หนึ่งสวนทางมา จึงบอกให้พวกเขาหลีกทางให้ แต่พวกเกวียนหลีกทางให้ไม่ทันใจ ราชปุโรหิตนั้นจึงเอาด้ามปฏักตีลงไปบนแอกเกวียนเล่มหน้าด้วยความโกรธ เมื่อด้ามปฏักกระทบกับแอกเกวียนก็สะท้อนกลับมาถูกหน้ารถของตนเองขึ้นทันที ราชปุโรหิตจึงนำความไปกราบทูลพระราชา หาว่าพวกเกวียนทำร้ายตน พระราชาจึงสั่งให้พวกตุลาการไต่สวนและวินิจฉัย พวกตุลาการจึงให้นำพวกเกวียนมาพร้อมกันแล้วได้ไต่สวนวินิจฉัยด้วยความยุติธรรม เห็นว่าเป็นความผิดของปุโรหิตนั้นเองแต่ราชปุโรหิตกลับไปกราบทูลพระราชาอีก พระราชาจึงออกประทับนั่ง ณ โรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้พวกเกวียนมาแล้วก็มิได้ชำระไต่สวนให้ประจักษ์ ตรัสสั่งให้ปรับพวกเกวียนทั้งหมด เป็นเงินพันกษาปณ์ทันที อำมาตย์โพธิสัตว์จึงกราบทูลขึ้นในขณะนั้นว่า ข้าแต่มหาบพิตรเจ้า พระองค์ยังมิได้ไต่สวนให้ประจักษ์ ตรัสสั่งให้ปรับเขาเช่นนี้ ก็ชนบางจำพวกตีตนเองแล้วหาว่าคนอื่นตีดังนี้ก็มี โกงเขาแล้วหาว่าเขาโกงก็มี ฉะนั้นพระราชาไม่ควรเชื่อโจทก์ฝ่ายเดียว ควรฟังจำเลยด้วย ฟังคำของคู่ความแล้วควรทำตามธรรม คือวินิจฉัยตามบัญญัติ พราะฉะนั้นการไม่วินิจฉัยแล้วสั่งการไม่ควร อันพระราชาผู้ดำรงราชสมบัติ ทรงใคร่ครวญแล้วสั่งการจึงควร แล้วจึงได้กล่าวคำอันเป็นสุภาษิต ดังที่ได้ยกขึ้นแปลไว้ข้างต้นแล้วนั้น และได้กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ กษัตริย์ควรใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ไม่ควรทำก่อนใคร่ครวญ อันอิสริยยศปริวารยศ และเกียรติยศ ย่อมจะมีแก่พระราชาผู้ใคร่ครวญก่อนจึงทำ ดังนี้ ฯ