นิทานธรรมชาดก เรื่อง โทษแห่งการทะนงตัว
ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าได้เกิดเป็นราชสีห์อยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งราชสีห์ตัวนั้นได้ฆ่ากระบือกิน เวลากินแล้วก็ลงไปดื่มน้ำ ขึ้นจากน้ำแล้วก็กลับมาสู่ถ้ำของตน ขณะที่ราชสีห์เดินมาตามทางนั้น มีสุนัขจิ้งจอกอยู่ข้างหน้าตัวหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นหลบหนีไม่ทัน จึงหมอบลงด้วยความกลัว เมื่อราชสีห์ถามว่าอะไร สุนัขจิ้งจอกก็ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าขอเป็นบ่าวของท่าน ราชสีห์จึงว่า ถ้าอย่างนั้นจงไปด้วยกัน ว่าแล้วจึงพาสุนัขจิ้งจอกไปที่ถ้ำของตน ให้สุนัขจิ้งจอกอยู่ในถ้ำนั้นด้วย ต่อนั้นไปก็นำเนื้อมาเลี้ยงสุนัขจิ้งจอกทุกวัน จนสุนัขจิ้งจอกนั้นมีร่างกายอ้วนพีเพราะกินเดนราชสีห์อย่างบริบูรณ์วันหนึ่งเกิดมานะขึ้น เข้าไปหาราชสีห์แล้วว่า ข้าแต่ท่านราชสีห์ ข้าพเจ้าเป็นธุระกังวลของท่านมาเป็นนิตยกาล ท่านได้นำมาเลี้ยงข้าพเจ้าเป็นนิตย์ วันนี้ขอท่านจงอยู่ในถ้ำนี้เถิด ข้าพเจ้าจักฆ่าช้างตัวหนึ่งมากินเป็นอาหาร แล้วจักนำมาให้ท่านด้วย ราชสีห์กล่าวว่า ดูก่อนสุนัขจิ้งจอก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเจ้า เจ้าไม่ได้เกิดในกำเนิดสัตว์ที่ฆ่าช้างกินได้ เราจักฆ่าให้เจ้ากิน ขึ้นชื่อว่าช้างทั้งหลายตัวมันใหญ่ ร่างกายมันสูง เจ้าอย่าเข้าใจผิด เชื่อเราเถิด เมื่อราชสีห์ห้ามอยู่ สุนัขจิ้งจอกก็บรรลือเสียงเห่าสามครั้ง แล้วยืนบนยอดเขา แลดูเชิงเขาเห็นช้างตัวหนึ่งเดินอยู่ทางเชิงเขาจึงโดดไป หมายว่าจะตก ณ กะพองช้าง แต่ได้พลาดกลิ้งตกไปใกล้เท้าช้าง ช้างได้ยกเท้าหน้าขึ้นขยี้บนศรีษะของสุนัขจิ้งจอกแตกเป็นจุณไป มันนอนหายใจแขม่วอยู่ในที่นั้นเอง ช้างก็ได้ร้องส่งเสียงแล้วหนีเขาป่าไป
ราชสีห์ยืนอยู่บนยอดเขาได้เห็นสุนัขจิ้งจอกถึงซึ่งความตาย เพราะความทะนงตนแล้วจึงกล่าวไว้ดังที่ได้ยกขึ้นแปลไว้แล้วนั้น เมื่อท่านผู้อ่านผู้ฟังเรื่องนี้จบแล้ว ก็จะเห็นได้ตามคำแปลข้างต้นนั้นเด่นชัด และจะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะทำอะไร ไม่กะไม่รู้จักประมาณตน ไม่กะกำลังกายกำลังใจ กำลังความคิด หรือกำลังทรัพย์สมบัติของตนให้พอเหมาะพอดีเสียก่อน กับสิ่งที่จะทำนั้นย่อมได้รับโทษทุกขภัย เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสอนให้คนมีอัตตัญญู คือ ความรู้จักตัวของตัว ว่าตัวเรามีชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้คุณธรรมเป็นอย่างไร สมควรที่เราจะทำอย่างนั้นหรือไม่ ทั้งให้มีอัตตัญญุตา คือ ให้รู้จักประมาณ อันได้แก่ให้รู้จักพอดีกับกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด กำลังทรัพย์สมบัติของตนเป็นต้น
เมื่อคนเราขาดอัตตัญญุตาก็ย่อมทะนงตน ขาดมัตตัญญุตา ก็ย่อมพลาดผลที่มุ่งหวังดังสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นมันขาดอัตตัญญุจา คือ มันไม่รู้ว่าตัวของมันมีชาติกำเนิดเป็นสุนัขจิ้งจอก มันขาดมัตตัญญุตา คือ มันขาดความรู้จักประมาณแห่งกำลังกายของมันว่ามันจะมีกำลังกายพอที่จะฆ่าช้างกินได้หรือไม่ มันจึงได้ถึงซึ่งความตายเช่นนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องชี้ให้เห็นว่า คนต่ำชาติต่ำตระกูลซึ่งทะนงตัวจะทำอย่างผู้ที่มีชาติตระกูลสูง ย่อมถึงซึ่งความวิบัติ ย่อมได้รับความเดือดร้อน แต่ว่ายังมีบางคนที่ทะนงตนว่าเราอาจทำสิ่งนั้นๆ ได้ดีกว่าผู้ที่สูงกว่าเราด้วยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความดี แล้วเขาก็พยายามกระทำ บางทีเขาก็จะกระทำสำเร็จได้ แต่ว่าเขาอาจเดือดร้อนในภายหลังก็มี บางทีเขาเองไม่เดือดร้อน แต่ว่าผู้อื่นเดือดร้อนก็มี เราเคยได้เห็นได้ยินเสมอ ที่ผู้น้อยอวดดีกว่าผู้ใหญ่ เห็นว่าผู้ใหญ่โง่กว่าตัว แล้วดูถูกดูหมิ่นผู้ใหญ่ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขาขาดอัตตัญญุตา และมัตตัญญุตา เขามีอัธยาศัยคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก หรือเขามีนิสัยคล้ายกับสุกรอวดดีซึ่งขืนสู้กับราชสีห์ฉะนั้น ขออย่าให้กุลบุตรกุลธิดาทั้งหลายถือตามเยี่ยงอย่างสุนัขจิ้งจอกเลย เพราะว่าถ้าถือตามเยี่ยงอย่างสุนัขจิ้งจอกก็ต้องเดือดร้อนในภายหลัง