google.com, pub-6663105814926378, DIRECT, f08c47fec0942fa0 กินนมมากๆ เป็นมะเร็งจริงหรือ

กินนมมากๆ เป็นมะเร็งจริงหรือ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นมได้จุดประเด็นร้อนขึ้น บ้างก็บอกว่านมเป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่าทางสารอาหาร มีส่วนในการสร้างกระดูกที่แข็งแรง แต่อีกด้านหนึ่ง กลับบอกว่านมเป็นตัวการก่อมะเร็ง และเป็นต้นเหตุการตายก่อนวัยอันควร แล้ว..ใครเป็นฝ่ายถูก? และทำไมเราถึงดื่มนมกันด้วยล่ะ?

นมนับว่าเป็นอาหารหลักของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแรกคลอด เมื่อระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่และมีขนาดเล็กอยู่ หลัก ๆ แล้วนมก็คือสุดยอดอาหารที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเรานั่นเอง นมนั้นอุดมไปด้วยไขมัน, วิตามิน, แร่ธาตุ, และน้ำตาลในนม หรือแลคโทส นอกจากนั้น น้ำนมในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ ยังลำเลียงภูมิคุ้มกันและโปรตีนให้กับทารก ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย และปรับระบบภูมิต้านทานให้ดีขึ้น แต่มันจะกินแรงคุณแม่อย่างหนักในการผลิต ในที่สุด มนุษย์ก็จะต้องหยุดดื่มนมแม่ และเปลี่ยนไปทานอาหารแบบเดียวกับผู้ใหญ่ นี่คือธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแบบนี้มานานนับพัน ๆ ปีแล้ว



จนกระทั่งเมื่อ 11,000 ปีก่อน เมื่อบรรพบุรุษของเราตั้งรกรากในสังคมเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก ในเวลาไม่นาน พวกเขาริเริ่มเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตน้ำนมเป็นครั้งแรก คือ แพะ, แกะ, และวัว พวกเขาค้นพบว่า สัตว์เหล่านี้สามารถแปลงสิ่งที่ไร้ประโยชน์และมีอยู่ทั่วไปหมดเหล่านี้ และเปลี่ยนมันเป็นอาหารที่มีประโยชน์และยังอร่อยด้วย เรื่องนี้ก่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับโอกาสอยู่รอด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยหรือมีปัญหา ดังนั้น กลุ่มไหนที่มีนมไว้ดื่มจึงมีข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการ (กลุ่มที่มีนม / กลุ่มที่ไม่มีนม) และด้วยหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ยีนของชุมชนที่มีโอกาสได้ดื่มนมมาก ก็เริ่มเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลมาจากเอนไซม์เฉพาะทางตัวหนึ่ง ที่ชื่อ แลคเทส เด็กทารกจะมีเอนไซม์นี้เป็นจำนวนมากในร่างกาย เพราะมันช่วยย่อยน้ำตาลในนม หรือแลคโทส ซึ่งจะทำให้ดูดซึมนมได้ดีขึ้น แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้น ร่างกายก็จะผลิตเอนไซม์แลคเทสได้น้อยลง ประมาณ 65% ของประชากรโลก ไม่มีเอนไซม์นี้หลังจากพ้นวัยทารกแล้ว ซึ่งส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถย่อยนมได้มากกว่า 150 มิลลิลิตรต่อวัน แต่อาการแพ้แลคโทสนี้ ยังไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอกันทั่วโลก ยกตัวอย่าง ในบางประเทศเขตเอเชียตะวันออก จะมีอาการนี้ถึง 90%

ส่วนในกลุ่มยุโรปตอนเหนือและอเมริกาเหนือ มีโอกาสเกิดอาการนี้ต่ำที่สุด มันมีสาเหตุอยู่ว่าทำไมถึงเกิดการกระจายตัวที่ไม่เท่ากันแบบนี้ อาการนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยบังเอิญจากการกลายพันธุ์แบบสุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นได้เองอย่างอิสระในบางกลุ่มประชากร ด้วยข้อเท็จจริงที่การทำการเกษตรได้เข้ามาแทนที่การล่าและสะสมอาหาร มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติมีบทบาทมากขึ้น คนที่สามารถกินและย่อยแลคโทสได้ ก็ถือว่ามีอาหารมากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบ

การย้ายถิ่นของผู้ผลิตนมไปทางเหนือ ทำให้ผู้มีข้อได้เปรียบนี้เพิ่มจำนวนขึ้น และเป็นไปได้มาก ที่จะส่งผลให้คนพื้นเมืองเดิมซึ่งไม่มีข้อได้เปรียบนี้ มีจำนวนลดลง ทีนี้ ถ้านมเป็นอาหารหลักอันทรงคุณค่าของมนุษย์มาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว ทำไมมันถึงเกิดประเด็นร้อนขึ้นมาล่ะ?

มีการกล่าวอ้างจากหลายทางเกี่ยวกับผลดีและผลเสียจากนม ฝ่ายผลเสียนั้นมีเหตุผลที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ กระดูกเปราะจนถึงมะเร็ง, โรคหัวใจจนถึงอาการแพ้ แล้วข้ออ้างเหล่านี้มีที่มาอย่างไร? บางงานวิจัยในอดีต เชื่อมโยงนมเข้ากับความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้, และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่การทบทวนหลักฐานใหม่พบว่านมไม่มีผลต่อความเสี่ยงเป็นมะเร็งเลย ในทางกลับกัน แคลเซียมในนมอาจส่งผลในการป้องกันมะเร็งลำไส้เสียมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นแคลเซียมจากแหล่งใดก็ได้ ยังไม่ชัดเจนว่านมป้องกันมะเร็งได้โดยตรง

มีเฉพาะงานวิจัยมะเร็งต่อมลูกหมากที่บ่งชี้ความเสี่ยงที่มากขึ้นในกลุ่มที่ดื่มนมมากกว่า 1.25 ลิตรต่อวัน แต่การเชื่อมโยงนี้ก็มีจุดบกพร่องอยู่ และไม่มีงานวิจัยอื่นที่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เราได้รวบรวมรายละเอียดของงานวิจัยเหล่านี้ไว้ใต้วิดีโอนี้แล้ว ซึ่งในภาพรวมนั้น ผลวิจัยบอกว่าหากคุณดื่มนมระหว่าง 100 - 250 มิลลิลิตรต่อวัน ก็จะไม่มีผลในการก่อมะเร็ง ในทำนองเดียวกัน การทบทวนหลักฐานใหม่ก็ไม่พบว่านมหรือผลิตภัณฑ์จากนม สามารถก่อความเสี่ยง ในการเป็นโรคหัวใจ, เส้นเลือดในสมองแตก, หรือลดอายุขัยของคุณได้เลย

บางงานวิจัยได้เสนอว่าอาการความดันโลหิตสูงนั้นจะพบได้น้อยลงในกลุ่มคนที่ดื่มนมเยอะ อย่างไรก็ตาม หลักฐานในงานวิจัยนี้ยังไม่หนักแน่นพอที่จะสรุปเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ประเด็นเริ่มที่จะซับซ้อนขึ้นเมื่อพิจารณากันที่กระดูก งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่านมไม่ทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียในผู้ใหญ่ สิ่งที่คนส่วนใหญ่กังวลกันมาก จะเกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อนจำพวกสารฆ่าแมลง, ยาปฏิชีวนะ, และฮอร์โมนมากกว่า ในนมนั้นมีฮอร์โมนอยู่ก็จริง แต่มีความเข้มข้นในระดับที่ต่ำมาก

ถ้าให้ยกตัวอย่าง หากต้องการได้ฮอร์โมนในปริมาณที่เทียบเท่ากับยาฮอร์โมนหนึ่งเม็ด จะต้องดื่มนมมากถึง 5,000 ลิตร และถึงคุณจะดื่มนมทั้งหมดนั้นได้จริง ฮอร์โมนส่วนใหญ่ก็จะถูกย่อยสลายไปในทางเดินอาหารแล้ว ก่อนที่จะสามารถส่งผลใด ๆ ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยาส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีสารเคลือบป้องกันจากระบบย่อยอาหาร สำหรับสารฆ่าแมลงและยาปฏิชีวนะนั้น ประเทศส่วนใหญ่ได้มีเกณฑ์ควบคุมสารปนเปื้อน ให้มีได้ไม่เกินปริมาณที่ถือว่าปลอดภัยโดยสิ้นเชิง นมที่มีสารปนเปื้อนเกินเกณฑ์ จะไม่สามารถนำมาวางขายได้

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้ต้องกังวลมากนัก นอกเหนือจากอาการแพ้นม หรืออาการแพ้แลคโทสแล้ว ผลเสียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของนมก็คือสิว และความรู้สึกไม่สบายตัวหลังจากดื่มหรือทานอาหารที่ทำจากนม และผลเสียที่ว่ามานี้ ส่งผลกระทบจริง ๆ ยกตัวอย่าง นมไขมันต่ำจะส่งเพิ่มโอกาสทางสถิติที่จะเกิดสิวได้มากถึง 24% อาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากนมจะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ในประเทศเยอรมนี จากเด็ก 18 คนจะพบอาการนี้ได้ 1 คน โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น ถ้างั้นสรุปได้ไหมว่านมดีต่อสุขภาพ?

น้ำนม ไม่ว่าจะมาจากแม่, วัว, แกะ, แพะ, หรืออูฐ ก็จะมีสารอาหารเข้มข้น อุดมไปด้วยสารอาหารหลักและสารอาหารรองมากมาย โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อให้รับแคลอรี่ได้เพียงพอ น้ำนมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดชีวิตและสุขภาพที่ดี และลดอัตราการตายของเด็กลงได้ สำหรับคนที่อาศัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว นมถือว่าไม่เป็นอันตราย หากคุณไม่มีอาการแพ้ สำหรับเด็ก ๆ แล้ว นมถือเป็นวิธีที่ดีสำหรับรับแคลเซียมในปริมาณสูง และสำหรับชาวมังสวิรัติ นมถือเป็นแหล่งวิตามิน B12 และวิตามิน B ที่ดี



แต่นี่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอาหารอื่นที่ให้ผลแบบเดียวกัน คุณไม่จำเป็นต้องดื่มนมเพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง นมนั้นไม่สามารถนำมาทดแทนน้ำดื่มได้ นมเป็นอาหารให้พลังงานสูง แคลอรี่ที่ได้รับจากการดื่มนมปริมาณมากเป็นประจำ สามารถส่งผลให้มีน้ำหนักเกินได้ โดยเฉพาะในนมที่ปรุงแต่งรสชาติ หรือนมช็อคโกแลต จะเทียบเคียงได้กับน้ำหวานมากกว่าของว่างเพื่อสุขภาพ และมีอีกเรื่องที่ต้องคำนึง การผลิตนมนั้นส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสภาพอากาศของโลก พื้นที่ทำการเกษตรกว่า 33% ใช้ปลูกพืชเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงวัวนมด้วย ถึงแม้ว่ารอยเท้าคาร์บอนของผลิตภัณฑ์นมจะทยอยลดลงตั้งแต่ปี 1990 อุตสาหกรรมนมยังคงมีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 3% ถือเป็นปริมาณที่สูงกว่าก๊าซจากเครื่องบินทุกลำบนโลกรวมกัน

นมนั้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกระบวนการผลิตนั้นสร้างความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แม่วัวถูกทำให้ตั้งท้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกจับแยกจากลูกวัวทันทีหลังคลอด และถูกฆ่าทันทีเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำนมได้อีกแล้ว เราไม่สามารถละเลยได้ว่านมส่วนใหญ่ที่เราบริโภค มาจากอุตสาหกรรมที่ โดยพื้นฐานแล้วคือการทรมาน และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก

แล้วถ้าเป็นนมที่ผลิตจากพืชล่ะ?
ในเชิงของระดับโปรตีนและคุณค่าทางสารอาหาร มีเพียงนมถั่วเหลืองเท่านั้นที่พอเทียบเคียงได้กับนมวัว นมอื่น ๆ จำเป็นต้องได้รับการเสริมสารอาหารเพิ่มเติม เพื่อให้มีวิตามินและแคลเซียมใกล้เคียงนมวัว และสามารถใช้เป็นตัวเลือกทดแทนนมวัวได้ และมีอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจเป็นจริงได้ในเร็ว ๆ นี้ บริษัทสตาร์ทอัปหลายแห่งได้พัฒนานมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ และมีสารอาหารเหมือนกับนมวัวทุกประการ

ยกตัวอย่าง เช่น ผลิตจากการหมักด้วยแบคทีเรียที่ผ่านมาปรับปรุงยีนแล้ว นมที่ผลิตในห้องแล็บนี้สามารถนำไปทำเป็นชีสได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นมจากพืชทำได้ยาก เนื่องจากขาดสารเคซีนและโปรตีนเวย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้นมมีรสชาติและคุณสมบัติเฉพาะตัว ในด้านผลกระทบต่อธรรมชาติ เหมือนกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ นมทางเลือกหลากหลายแบบ สิ้นเปลืองพลังงาน, ที่ดิน, และน้ำ ในการผลิตน้อยกว่านมวัวมาก และก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่านมจากสัตว์มากเช่นกัน หากคุณต้องการลดผลเสียต่อโลกให้มากที่สุด คำตอบที่ดีที่สุดก็คือนมทางเลือกที่อยู่ในภูมิภาคของคุณ

(บทสรุป)

ประเด็นเรื่องนมนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มันไม่ส่งผลเสียต่อประชากรส่วนใหญ่ของโลก และเป็นสิ่งจำเป็นของคนจำนวนมาก นมนั้นดี มีคุณค่า แต่ก็ส่งผลเสียต่อโลก และก่อความทุกข์ทรมานแสนสาหัสในเวลาเดียวกัน
เราต้องร่วมกันตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อเราทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้

ที่มา Kurzgesagt – In a Nutshell Youtube Channel

Popular Posts