google.com, pub-6663105814926378, DIRECT, f08c47fec0942fa0 Mega Topic: จำนำข้าว | จัดอันดับ | 10 อันดับ| เรื่องผี| เรื่องสยองขวัญ| ที่สุดในโลก| ดูดวง| ประวัติศาสตร์
Showing posts with label จำนำข้าว. Show all posts
Showing posts with label จำนำข้าว. Show all posts

จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย

จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย

จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย

รายการตอบโจทย์ ตอน "จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย" กับแขกรับเชิญ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกอากาศ 15 ตุลาคม 2555



ผู้ดำเนินรายการ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ผู้ดำเนินรายการ : สวัสดีครับท่านผู้ชมครับ รายการตอบโจทย์ทำเรื่องข้าวต่อเนื่องมาหลายวันเชิญขาใหญ่ในวงการมาทั้งสิ้นตั้งแต่อาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้เรื่องข้าวดีที่สุดคนหนึ่ง ทำมาตั้งแต่ตอนหนุ่มจนถึงปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโส ต่อเนื่องด้วยอาจารย์โอฬาร ชัยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าทำวิจัยเรื่องข้าวมากับอาจารย์อัมมาร์นั่นแหละครับ มาวันนี้จะเชิญขาใหญ่ในทางเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องข้าวมาตลอดชีวิตอีกคน จะมาสนทนากับเราเรื่องปัญหาข้าว เรื่องการจำนำข้าวของรัฐบาลครับ เป็นทั้งอดีตประธาน TDRI เป็นอดีตคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร ครับ อาจารย์สวัสดีครับ

อาจารย์นิพนธ์ : สวัสดีครับ

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับรัฐบาลบอกว่านโยบายรับจำนำข้าวชาวนาได้ประโยชน์ทั้งประเทศ แล้วก็ได้ประโยชน์จริงๆ นักวิชาการอย่างอาจารย์มาขวางทำไมครับ

อาจารย์นิพนธ์ : ได้ประโยชน์จริงๆ ครับ ไม่ได้ปฏิเสธครับ แต่ประโยชน์ที่ได้เนี่ย ได้กับเกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวยและก็มีฐานะปานกลาง ส่วนเกษตรกรที่ยากจนไม่ได้ประโยชน์ ต้องพูดอย่างนี้ว่า ชาวนาทุกคนไม่ใช่ว่ายากจน มีชาวนาที่ร่ำรวย ร่ำรวยนี่หมายความว่าเราจัดลำดับรายได้ของชาวนา มีชาวนาที่อยู่ในกลุ่มที่รายได้ร่ำรวยที่สุด 4 กลุ่มมีอยู่ประมาณ 1,000,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นคนที่เข้าโครงการรับจำนำข้าว ทีนี้ถ้าไปดูตัวเลขผลของการจำนำข้าว เอาตัวเลขนาปรังจะเห็นชัดที่สุด คนที่เป็นชาวนาเล็กๆ เอาคนที่ได้ประโยชน์ก่อน ชาวนาเล็กๆจำนำได้ไม่เกิน 100,000 บาท ก็ประมาณ 7-8 ตัน มีที่ดินน้อย คนพวกนี้มีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของชาวนาที่เข้าโครงการ แต่จำนวนเงินที่ได้เพียง 8% ทีนี้พอมาดูชาวนาที่ร่ำรวยจำนำข้าวได้เงินเกิน 600,000 มีอยู่ 5% แต่ได้เงินไป 19 % ส่วนพวกชาวนาที่อยู่ระดับปานกลางคือ จำนำข้าววงเงิน 100,000 - 600,000 บาท มี 62% ได้เงินไปประมาณ 73% เห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่ปานกลางกับกลุ่มที่ร่ำรวยได้ประโยชน์ นี่เป็นข้อมูลจากชาวนาที่เข้าโครงการหนึ่งล้านครัวเรือน แต่อย่าลืมว่ามีชาวนาทั้งหมดสี่ล้านครัวเรือน อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เข้าโครงการขายข้าวในตลาดมีข้าวเหลือขายก็จะได้ประโยชน์จากราคาสูงขึ้น อันนี้จริง แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ผลิตข้าวไม่พอกินต้องซื้อข้าวหรือผลิตข้าวพอดีไม่ได้ขายข้าว พวกนี้ก็จะมีประมาณอีกหนึ่งล้านครัวเรือนที่ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าชาวนาทั้งหมดไดประโยชน์นั้นไม่จริง

ผู้ดำเนินรายการ : ตกลงแล้วอาจารย์จะบอกว่า ที่รัฐบาลเอาเงินไปช่วยนั้นเป็นชาวนาปานกลางกับร่ำรวย ในขณะที่ชาวนาที่ยากจนที่ควรจะช่วยก็ไม่ได้ช่วย

อาจารย์นิพนธ์ : ใช่ครับมีอยู่หนึ่งล้านครัวเรือนที่ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ก็เข้าใจได้ ชาวนาที่มีฐานะปานกลางเป็นคนส่วนใหญ่ ฐานเสียงอยู่ตรงนี้

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าฟังอย่างนี้แล้วต่อไปนักวิชาการจะเอาอะไรไปค้านในเมื่อฐานเสียงนี้เป็นชาวนาทั้งประเทศ อาจารย์จะไปสู้กับชาวนาทั้งประเทศไหวเหรอครับ

อาจารย์นิพนธ์ : เราไม่ได้ไปสู้กับชาวนา เพราะเราอยากให้ชาวนามีฐานะดีขึ้น นโยบายที่เราอยากจะเห็นคือนโยบายที่จะช่วยชาวนาโดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนเป็นหลัก หรือชาวนาที่มีฐานะปานกลางระดับล่าง ไม่ใช่ไปช่วยชาวนาที่มีฐานะร่ำรวย ผมคิดว่านโยบายควรจะเป็นแบบนี้

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับนอกจากชาวนาแล้วยังมีโรงสี มีโกดัง มีเซอร์เวเยอร์ที่เข้ามาในกระบวนการค้าข้าวอีก อาจารย์ยังต้องรบกับพวกนี้อีก

อาจารย์นิพนธ์ : อันนี้เป็นศึกหนักที่สุด

ผู้ดำเนินรายการ : เพราะว่าอะไรครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : เพราะว่า โรงสีนี่ทำธุรกิจลำบากนะครับ เวลาทำธุรกิจนี่ต้องแข่งขันกันสูง มีโรงสีหลายพันโรงในประเทศไทย ไอ้การสีข้าวขายเนี่ยมันได้กำไรนิดเดียว ส่วนใหญ่โรงสีที่อยู่กันได้เนี่ยได้จากการเก็งกำไรราคา ต้องมีความสามารถในการติดตามภาวะราคาเก็งกำไร ดังนั้นพอมีโครงการนี้เข้ามา โรงสีที่เข้าโครงการนี้ได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากตัวเลขข้าว 1 ตัน ที่รัฐบาลให้ 500 บาทต่อตัน แล้วรัฐบาลให้เป็นผลผลิต แล้วคิดอัตราการสีดีหน่อย ถ้าไม่โกงไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เขาจะได้กำไรจากการทำธุรกิจปกติ 200-300 บาทแล้ว เพราะฉะนั้นเขาชอบมากโครงการนี้ เพราะว่าไม่ต้องไปกู้เงิน ไม่ต้องไปซื้อข้าวมาตุนเอาไว้เพราะเป็นข้าวรัฐบาล เสร็จแล้วเวลารัฐบาลขายข้าว คนพวกนี้ซื้อข้าวรัฐบาลได้อีกเพราะคนอื่นไม่กล้าประมูลเพราะข้าวมันอยู่ในคลังของเขา ไอ้คลังกลางของรัฐบาลเนี่ย รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของคลังเอง รัฐบาลไปเช่าคลังของโรงสีของใครต่อใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงซื้อข้าวได้จากรัฐบาล คนอื่นไม่กล้าประมูลกัน เพราะคนอื่นไม่รู้ว่าข้าวในโกดังมันมีคุณภาพอย่างไร ไม่นับที่มีการสูญเสียที่มีข่าวว่าไปเอาข้าวมาจากต่างประเทศ ทั้งลาวทั้งเขมร แล้วถ้าสมมุติว่าส่งข้าวเข้าไปในโกดัง แล้วร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กับเซอร์เวเยอร์ จ่ายเงินใต้โต๊ะให้เซอร์เวเยอร์กับเจ้าหน้าที่ ส่งข้าวขาดน้ำหนัก ก็ได้กำไรอีก ทั้งหมดนี่มันหอมหวลมาก ทำธุรกิจอะไรก็ไม่ดีเท่ากับธุรกิจที่มีเส้นมีสายกับรัฐบาล แล้วก็ได้กำไรเยอะแยะเป็นกอบเป็นกำ แต่กำไรนี่มาจากความสามารถมั้ย ไม่ใช่เลย เป็นกำไรที่เอาเงินมาจากภาษีประชาชนทั้งนั้นครับ

ผู้ดำเนินรายการ : แล้วถ้าทีนี้รัฐบาลบอกจะส่งรองนายกรัฐมนตรี อดีตนายตำรวจเก่า มือปราบเก่าเข้าไปปราบคอร์รัปชั่น จับไหวไหมครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : คือไม่ไหวหรอกครับ จับยังไงก็ไม่ไหว ให้ขนข้าราชการมาทั้งประเทศก็จับไม่ไหว

ผู้ดำเนินรายการ : ทำไมมันจับไม่ได้ครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : จับไม่ได้ครับเพราะธุรกิจอันนี้เนี่ยเราเรียกว่าเหมือนกับการสร้างบ้านหรือคอนโดที่เขา Build in เฟอร์นิเจอร์ไว้เรียบร้อยแล้ว มันออกแบบระบบการจำนำที่มันเอื้อต่อการทุจริตแบบ Build in

ผู้ดำเนินรายการ : มันเป็นยังไงครับ Build in คอร์รัปชั่นเนี่ยครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : ราคาข้าวสูงมากทำให้มีพ่อค้าไปซื้อข้าวจากต่างประเทศ ที่นี้ซื้อเข้ามาแล้วมันไม่ถูกจับ เราเห็นโรงสีนี้ทำ โรงสีอื่นเห็นก็ทำตาม เกษตรกรบางคนที่รับจ้างปลูกข้าวญี่ปุ่น ไปจดทะเบียน แอบจดทะเบียน แล้วก็เอาใบทะเบียนไปขายให้โรงสี ได้สองต่อคือ ขายข้าวก็ขายข้าวญี่ปุ่นนอกโครงการแล้วยังเอาทะเบียนมาขายให้โรงสีได้อีก พอเกษตรกรเพื่อนบ้านเห็นไอ้คนนี้ทำแล้วไม่ถูกจับ เพราะเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ ไม่มีใครฟ้องก็เริ่มทำบ้าง เพราะฉะนั้นระบบนี่มันเอื้อต่อการทุจริต เรียกว่าทุจริตแบบฝังใน แบบ Build in เรียบร้อย

ผู้ดำเนินรายการ : ทีนี้ถ้าระบบมันเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็ต้องรู้อยู่ รัฐบาลรู้โครงสร้างอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไปจับทีละจุด ทีละจุด เพื่อไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นได้ไหมครับ

อาจารย์นิพนธ์ : ยากครับ เพราะว่าอย่าลืมว่ามันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกษตรกรหนึ่งล้านคน โรงสีอีกเป็นพันโรง อยู่กระจายทั่วประเทศไทย จะไปจับตอนไหนครับ ขนข้าวเข้าไปแล้วอยู่ในโกดัง น้ำหนักต่ำกว่าที่กำหนด คุณจะไปเอาข้าวในโกดังเป็นหมื่นๆ ตัน ออกมาชั่งใหม่ได้ไหม แล้วกี่โรงสีครับ กี่โกดังครับ ระบบทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะทุจริต ไม่ทุจริตก็ได้กำไรแล้ว ยิ่งทุจริตยิ่งได้กำไรมาก ตรงนี้เนี่ยคุณเล่นกับแรงจูงใจของคน มันต้องปรับระบบใหม่ ระบบใหม่ที่ดีคือรัฐบาลต้องไม่เข้ามาค้าขาย ทันทีที่รัฐบาลเข้ามาค้าขาย มันเลยเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้มีการทุจริต

ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลบอกไม่ทันแล้วครับ นี่เป็นการค้าขายแล้วก็สู้กับตลาดโลก นี่จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างไทยถูกเขากดราคา วันนี้จะสร้างระบบใหม่ไปสู้กับตลาดโลกยังไงครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : ที่รัฐบาลคุยเอาไว้ตอนต้น ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ว่าจะขายในราคาที่เรียกว่า cost plus คือเอาราคา 15,000 บวกต้นทุนอื่นๆ ซึ่งมันก็จะตกประมาณ 800 กว่าเหรียญ เวลานี้รัฐบาลไม่กล้าพูดแล้วเพราะว่ารัฐบาลก็รู้แล้วว่าไม่มีใครซื้อข้าวในราคาขนาดนั้น เพราะข้าวในคุณภาพเดียวกันซื้อจากประเทศอื่นได้ในราคา 400-500 เหรียญ ประเทศไทยเวลานี้ตั้งราคา 600 เหรียญ ยังไม่มีใครอยากจะซื้อเลย เพราะฉะนั้นเวลานี้รัฐบาลรู้แล้วว่าทำไม่ได้ ตลอดปีที่ผ่านมารัฐบาลขายได้แค่หนึ่งล้านกว่าตัน บวกกับที่ขายได้ภายในสิ้นปีนี้ที่ท่านรัฐมนตรีพูดว่าอีกประมาณหนึ่งล้านตัน ก็รวมเป็นสองล้านตันเท่านั้นเอง ในขณะที่ปีๆหนึ่ง อย่างปี 2554 ตลอดปีเราขายได้เกือบๆ 11 ล้านตัน เราขาย 160 ประเทศ เราอาศัยผู้ส่งออก กลไกของการส่งออก ร้อยกว่าคน

ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลบอกขายไม่ได้ไม่เป็นไร อาจารย์ใจเย็นๆ เดี๋ยวเอาไปเก็บไว้ตามค่ายทหารตามดอนเมือง เดี๋ยวรอราคาขึ้นแล้วค่อยขาย เก็บไว้ก่อนได้มั้ยครับอาจารย์

อาจารย์นิพนธ์ : เก็บไว้ให้เสียเหรอครับ เก็บมีต้นทุนนะครับ หนึ่งคือค่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้เงินกู้ก่อน ปีนึงที่คำนวณคร่าวๆก็ 5,000 กว่าล้าน สองมีค่าข้าวเสื่อม ข้าวเน่า มีการวิจัยบอกว่าข้าวเก็บไว้มันมีการเสื่อมคุณภาพ สองอย่างนี้ปีนึงเนี่ยคาใช้จ่ายที่สูญเสียไปปีนึงก็หมื่นล้านแล้ว แล้วถามว่าถ้ารอให้ราคาเพิ่มขึ้น มันคุ้มกับความเสียหายที่เกิดมั้ย แล้วรัฐบาลไม่ได้เป็นพ่อค้า ไม่ได้ตามภาวะราคา คุณรู้ได้ไงว่าวันไหนราคาขึ้น วันไหนราคาลง มันเป็นเรื่องการเก็งกำไรทั้งสิ้น รัฐบาลไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจเก็งกำไร แล้วถ้าธุรกิจแบบนี้มันเอาเงินภาษีของเราไปเก็งกำไร เหมือนเล่นการพนัน เอาเงินภาษีไปเล่นการพนัน ถ้าชนะก็โชคดีไป แพ้ก็คือเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐบาล นี่คือปัญหา ถ้านักธุรกิจเขาเก็งกำไรแล้วขาดทุนมันก็เงินของเขา ทำไมเราต้องสนับสนุนรัฐบาลให้มาเก็งกำไร นี่คือคำถามของผม

ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลก็บอกว่าเก็งกำไรเพื่อมีโอกาสชนะ ไม่งั้นก็ต้องอยู่แบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ ชาวนาไม่มีโอกาศลืมตาอ้าปาก

อาจารย์นิพนธ์ : เรื่องช่วยเหลือมันต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ถามว่ารัฐบาลมีปัญญาจะขายมั้ย และก็มีการพยายามจะผูกขาด มีการกล่าวหาว่าพ่อค้าต้องการผูกขาด ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการขายข้าวเพียงประเทศเดียว มีประเทศผู้ขายคนอื่นๆที่แข่งกับเรา แล้วก็มีประเทศผู้ซื้อ แล้วถามว่าใครกดราคา ถ้าปีไหนมีข้าวเยอะราคาจะต่ำ พอผู้ซื้อเขารู้ว่าเขาจะซื้อที่ไหนก็ได้ เขาก็จะซื้อในราคาต่ำ ไม่มีใครอยากซื้อของแพง คนขายก็อยากขายของแพง อย่างปีไหนที่ไม่มีของ เช่นปี 2551 ของมันน้อย โหราคาพุ่งทะลุฟ้าเลย ปีนั้นเนี่ยผู้ส่งออกโก่งราคา เพราะฉะนั้นที่บอกว่าผู้ส่งออกกดราคานั้น ไม่มีพ่อค้าคนไหนอยากขายของถูกหรอก ไม่มีประเทศไหนในโลกที่รัฐบาลค้าขายเก่งกว่าพ่อค้า ระบบสังคมนิยมที่พยายามมาทำธุรกิจการเกษตรเนี่ยมันพังพินาศไปหมด

ผู้ดำเนินรายการ : รัฐบาลก็บอกว่าเอาแบบOPECไงครับอาจารย์ รวมประเทศผู้ผลิตข้าวเอาเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดี๋ยวจะเป็น AEC ด้วย จับมือกันไปปั่นราคาข้าวในตลาดกัน

อาจารย์นิพนธ์ : เรียกว่า OREC ก็แล้วกันเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ข้าวไม่เหมือนกับน้ำมัน น้ำมันเก็บไว้ในดินไม่เสียอะไร ดอกเบี้ยมันเพิ่มขึ้นด้วยเพราะน้ำมันมันขาดแคลน ราคาก็มีแต่วันที่จะขึ้น ส่วนข้าวเอาเก็บไว้ในโกดัง ปีๆนึงต้นทุนมันขึ้นไป 10% แล้วราคาจะขึ้นไป 10% ด้วยหรือเปล่า เพราะข้าวเน่ามีดอกเบี้ยอันนี้ประการที่หนึ่ง ประการที่สองสมมุติทำสำเร็จรวมตัวกันได้ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ พ่อค้าบางคนเริ่มเบี้ยว แอบไปขายในราคาต่ำ และบางทีเกษตรกรประเทศผู้ซื้อปลูกข้าวมากขึ้นเพราะข้าวมันแพง มันคุ้มที่จะอัดปุ๋ย อัดยา พอที่อื่นปลูกข้าวมากขึ้นปีต่อไปราคาตก มันไม่เหมือนน้ำมัน น้ำมันปลูกไม่ได้ เพราะสถานการณ์อย่างนี้อย่าไปฝันเลยว่าเราจะตั้งองค์กรเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่แล้วประสบความสำเร็จ คุมพ่อค้าก็ไม่ได้ คุมเกษตรกรก็ไม่ได้ เกษตรกรทั่วโลกมีเป็นร้อยล้านคน ไหนจะพ่อค้าทั่วโลกมีกี่คน แล้วจริงๆก็เคยทำมาแล้วในทศวรรษ 1970 เนี่ย ประเทศกำลังพัฒนามีแร่มีอะไรต่างๆอยากจะคุมแล้วไม่สำเร็จ ยกเว้นอย่างเดียวคือน้ำมัน

ผู้ดำเนินรายการ : ตกลงเกมนี้เนี่ยรัฐบาลมีโอกาสชนะมั้ยครับ

อาจารย์นิพนธ์ : แพ้ครับ แต่ในทางการเมืองรัฐบาลชนะครับ ในทางเศรษฐกิจไม่มีทางชนะแล้วก็จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทย

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าในทางการเมืองรัฐบาลชนะแล้วชนะเห็นชัดมาก แต่ในทางเสรษฐกิจมันไปไม่ได้ ทีนี้มันจะอยู่กันยังไงครับอาจารย์ แล้วประเทศจะเป็นยังไง

อาจารย์นิพนธ์ : รัฐบาลก็จะเดินนโยบายนี้ไป รัฐบาลก็จะได้รับการเลือกตั้ง เพราะมีคนที่สนับสนุนนโยบายนี้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ก็ตาม รัฐบาลก็จะหามาตรการอื่นๆไปรองรับเพื่อดึงคะแนนเสียง ในทางการเมืองนั้นชนะแน่ แต่ในทางเศรษฐกิจนั้นอย่าลืมว่าเวลาที่อุตสาหกรรมข้าวไทยก็จะพังแล้ว เราไม่มีทางนำเอาอุตสาหกรรมข้าวไทยกลับคืนมา พ่อค้าข้าวไทยที่มีคุณภาพ ระบบการค้าที่อาศัยข้าวที่มีคุณภาพนี้จะหมดไป แล้วพ่อค้าก็ไปทำธุรกิจต่างประเทศ ไปช่วยต่างประเทศหรือไม่ก็เลิกอาชีพไป วันใดวันหนึ่งถ้ามันพังไปแล้ว เราจะเอาคนพวกนี้กลับมาทำไม่ได้ ยกตัวอย่างระยะสั้นง่ายๆ เวลานี้ที่บอกเรื่องคุณภาพข้าวนี่เห็นชัดเจนเลย คุณเอาข้าวหอมมาเก็บไว้ในคลัง ความหอมในข้าวนี่มันเป็นสารระเหย 4-5 เดือน นี่ความหอมมันไปเกือบหมด แล้วมันก็แข็งขึ้น ราคาตก เวลาที่เขาขายข้าวหอมเขาจะขายกันต้นปีนะครับ เกี่ยวมาเสร็จแล้วเนี่ย ฮ่องกงจะรีบซื้อ แล้วฮ่องกงจะมีห้องเย็นพิเศษของเขา เราไม่ต้องสต็อก ก็รีบขายไปให้เขา ส่วนข้าวนึ่งเป็นข้าวธรรมดา แล้วเราขายได้ให้อาหรับ ให้แอฟริกา แล้วมันต้องเอาข้าวเปลือกมานึ่ง แล้วพอรัฐบาลรับจำนำข้าว 7 วันนี่เอาข้าวเปลือกมาสีหมด ไม่มีข้าวนึ่งขาย เวลานี้ก็เปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้าน ให้เวียดนาม ให้อินเดียเขาส่งข้าวนึ่ง ทั้งๆที่เป็นข้าวราคาสูง รัฐบาลบอกอยากขายข้าวราคาแพง เรากำลังทำสิ่งที่มันตรงกันข้าม ผลที่ออกมามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการอยากให้เป็น

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับพูดคุยเรื่องข้าวมาหลายวันก็มีคนใจดีครับ ส่งเอกสารมา เป็นเอกสารจากกระทรวงการคลังส่งไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงว่าด่วนที่สุด ดูหน้าสุดท้ายลงชื่อว่ามาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทีนี้จะจับประเด็นว่าคุณกิตติรัตน์เป็นคนของรัฐบาลแล้วส่งอะไรมาถึงรัฐบาลมีหลายต่อหลายประเด็น อ่านแล้วไม่เข้าใจต้องขอถามนักเศรษฐศาสตร์หน่อย ในประเด็นที่ห้า เขาบอกว่าพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรอบวงเงินการค้ำประกันและการให้กู้ต่อเป็นบาท ตามมาตร 25 และ 28 นี้นะครับ กำหนดให้ในปีงบประมาณที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันและการให้กู้ต่อเป็นบาทได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งในปี 2556 มีกรอบวงเงินดังกล่าวอยู่ที่ 480,000 ล้านบาท และเนื่องจากกรอบวงเงินกู้และวงเงินค้ำประกันดังกล่าวมีอยู่อย่างจำกัด คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาเห็นชอบและรับทราบแผนนี้แล้ว และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการยริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2556 ซึ่งภายใต้แผนการดังกล่าวมีกรอบเงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ 150,000 ล้านบาท คุยไปคุยมาทั้งหมดนี้เขาสรุปว่า กรอบเงินที่ไปกู้มาทั้งหมดนี้ที่เอามาใช้กับเรื่องข้าว คิดเป็นร้อยละ 55 ของกรอบวงเงินค้ำประกันตาม พรบ. บริหารหนี้สาธารณะ ที่อ้างถึงทั้งหมด อาจารย์ครับนี่มันภาษาเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ เขาบอกว่า มีอยู่ 480,000 ล้านใช้ไปแล้วร้อยละ 55 หมายความว่าไงครับ

อาจารย์นิพนธ์ : ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ท่านเห็นปัญหา ทุกวันนี้รัฐบาลมีรายการใช้จ่ายเยอะ ถ้าเอาเงินไปใช้จ่ายเรื่องข้าวไป 55% ก็เหลือเงินที่เอาไปพัฒนาประเทศ ไปทำถนน ไฟฟ้า ประปา 45% แล้วถ้าสมมุติมีข้าวเพิ่มขึ้นมาอีก ภาระหนี้สาธารณะนี้มันก็เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องกู้เงินมาถมรายการนี้มากขึ้น ก็หมายความว่ารัฐบาลจะเหลือเงินที่ใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศน้อยลง ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีการคลังที่ท่านเป็นห่วงเรื่องนี้

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับแล้วนักเศรษฐศาสตร์ ท่านรัฐมนตรีคลัง ทำหนังสือนี้ออกมาแสดงถึงความกังวลอะไรครับ

อาจารย์นิพนธ์ : ผมคิดว่าเรากังวลว่าจะไม่มีเงินไปพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าโครงการนี้เป็นการกระตุ้นรายได้ เพราะว่าไปทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการกระตุ้นรายได้มันต้องมีการกู้เงินมาใช้ เสร็จแล้วมันก็ทำให้ไปเบียดเม็ดเงินที่จะไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ



ผู้ดำเนินรายการ : แล้วอะไรคือที่สุดของความน่ากลัวของโครงการรับจำนำข้าวนี้ครับ

อาจารย์นิพนธ์ : ที่สุดแล้วนี่เราก็รู้ว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาขายข้าวหรอก แล้วเราก็ดูสถิติในการขายข้าวก็รู้ว่ามันขายไม่ได้จริง จนสุดท้ายเราก็จะขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ ปีนึงแสนกว่าล้าน มันยังไม่พังหรอก แต่ถ้าทำติดต่อกันสามสี่ปี กลายเป็นเงินสี่ห้าแสนล้าน ถึงวันใดวันหนึ่งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากระทบกระเทือนประเทศไทย ถึงวันนั้นรัฐบาลจะไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ในการพยุงภาวะเศรษฐกิจให้มันกลับดีขึ้นมา แล้วถ้ารัฐบาลตัดสินใจลุย ใช้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก ตอนนั้นจะเกิดเรื่องใหญ่เกิดวิกฤตเหมือนประเทศกรีกเวลานี้ แล้วเมื่อเกิดวิกฤต เงินไหลออก ต่างประเทศเลิกเชื่อมั่น ก็ต้องรัดเข็มขัด คนที่เดือดร้อนที่สุดก็จะเป็นประชากรที่ยากจน เพราะเวลาที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัดก็จะต้องตัดรายจ่ายทางสังคมที่จะกระทบกระเทือนกับคนจน คนชั้นล่าง แล้วคนพวกนี้หนีไปไหนไม่ได้ แต่คนชั้นบนขนเงินออกนอกประเทศได้ คนที่มีฐานะหนีออกไปอยู่นอกประเทศได้ คนที่มีความรู้หนีออกไปอยู่นอกประเทศได้ คนที่ฐานะไม่ดีต้องอยู่ในประเทศก็เกิดภาวะฝืดเคือง อดอยาก ลำบาก นี่คือวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะละตินอเมริกา

ผู้ดำเนินรายการ : ทั้งหมดนี้คือตอบโจทย์ในค่ำคืนนี้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

ที่มา รายการตอบโจทย์ ตอน "จำนำข้าว...หายนะเศรษฐกิจข้าวไทย" กับแขกรับเชิญ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกอากาศ 15 ตุลาคม 2555
ผู้ดำเนินรายการ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

สัตว์มีพิษ ไวรัสอีโบลา เอเลี่ยนสปีชี่ส์
กำเนิดจักรวาล กำเนิดดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะจักรวาล
ปริศนาของจักรวาล การเดินทางข้ามกาลเวลา สสารและปฏิสสาร
สิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร บิ๊กแบงคืออะไร สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
สัตว์น้ำแปลก ปลาแองเกลอร์ สัตว์ดูดเลือด
อันดับงูสวยงาม อนาคอนด้า ตัวอ่อนปลาฉลาม
เห็ดมีพิษ ภัยของยาไอซ์ คลื่นยักษ์สึนามิ
กัญชาปลอดภัย ไวรัสอีโบลา ปรสิตที่น่ากลัว
สาเหตุสึนามิ ทำไมผมร่วง สงครามซีเรีย
ทำลายหลุมดำ โลกของเรา กระแสน้ำทะเล
วิธีทำลายเอกภพ กลไกวิวัฒนาการ ระบบภูมิคุ้มกัน
กษัตริย์เกาหลี จักรพรรดิกวางสี จักรพรรดิปูยี
ตำนานอโดนิส โจนออฟอาร์ค มู่กุ้ยอิง
จักรพรรดิเนโร พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 อับราฮัม ลินคอล์น
พระเจ้าซุกจง มาตาฮารี เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด
ตำนานธอร์ นิกิต้า ครุสชอฟ สงครามเกาหลี
กำแพงเมืองจีน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พระนางเลือดขาว
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สตีเฟน ฮอว์คิง ลีโอ ตอลสตอย
สตีฟ จ็อบส์ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ พระนางมัสสุหรี

บทความแนะนำ

เรื่องย่อละคร สุดแค้นแสนรัก เรื่องย่อละคร เจ้านาง เรื่องย่อละครเพลงรักเพลงลำ เรื่องย่อละครเพื่อนแพง เรื่องย่อละคร นางสาวทองสร้อย คุณแจ๋วหมายเลข 1 เรื่องย่อละครเลือดมังกรตอนแรด บ้านหลอนแดนนรก สัมภาษณ์คุณฌอห์ณ จินดาโชติ

Popular Posts