เรื่องลับๆ กับชาเขียว
ชาเขียวไม่ได้มีดีแค่เพียงชงดื่มเท่านั้น ครีเอตสักหน่อย พลิกแพลงสักนิด แล้วคุณจะได้ประโยชน์จากชาเขียวอย่างคาดไม่ถึงเชียวล่ะ ถ้าชาเขียวที่คุณคุ้นเคยมีแค่บรรดาขวดที่วางเรียงในตู้แช่ตามร้านสะดวกซื้อหรือแก้วจิ๋วร้อนจี๋ที่เสิร์ฟกันในร้านอาหารญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ชีวิตคุณพลาดอะไรไปอีกเยอะเชียว "ชาเขียวทั้งหลายทั้งมวลมีที่มาเดียวกันคือ จากต้น Camellia Sinensis แต่รสชาติและกลิ่นนั้นขึ้นอยู่กับว่าปลูกที่ไหน และใช้กรรมวิธีอะไรในการผลิต" แมรี่ ลูว์ เฮสส์ (Mary Lou Heiss) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ The Tea Enthusiast's Handbook : A Guide to World's Best Teas กล่าวเอาไว้
ชาวเอเชียอย่างเราๆ สุดแสนจะโชคดี เพราะชาเขียวเป็นของหาง่ายในซีกโลกตะวันออก ดังนั้น การเพิ่มหรือผสมชาเขียวเข้าไปในเมนูอาหารแต่ละวันคงไม่ยุ่งยากเกินไป ยิ่งถ้าเทียบกับประโยชน์มหาศาลที่จะตามมา เราจึงรวบรวมชาเขียวดังๆ คุณภาพคับแก้ว 6 ชนิด พร้อมวิธีดัดแปลงปรุงกับอาหารจานต่างๆ ไว้ที่นี่แล้ว คุณล่ะพร้อมหรือยัง?
*****ทำไมต้องชาเขียว*****
ชาเขียวไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการหมักเหมือนชาดำหรือชาอู่หลง จึงมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า คาเตชิน อยู่มาก โดยเฉพาะอนุพันธุ์ EGCG ซึ่งสามารถลดภาวะเป็นพิษของสารก่อมะเร็งได้
มัชฉะ
ใบชาจะถูกบดจนเป็นผงเหมาะแก่การชงดื่ม และการดื่มใบชาโดยตรงนี้เอง คุณจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ
รสชาติ เข้ม และได้รสใบชาแบบเน้นๆ
เมนูพลิกแพลง ละลายชาเขียว 1 ช้อนชาในสมูธตี้ หรือลองโรยผงชาบนไอศครีมวานิลลา หรือบนดาร์กช็อคโกแลตแท่ง รสชาติดิบๆ ของผงชาจะตัดกับความหวานได้อย่างน่าทึ่ง
ดราก้อน เวลล์
ชาเขียวดราก้อน เวลล์ มีสีอมเหลือง ลักษณะเป็นใบแบนๆ และเป็นชาที่คนจีนนิยมดื่มมากที่สุด
รสชาติ นุ่มนวล คล้ายเกาลัด
เมนูพลิกแพลง ซอยใบชาเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับสมุนไพรชนิดต่างๆ ใช้ทาไก่หรือเนื้อให้ทั่วก่อนนำไปอบ ย่าง หรือปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นๆ
กันพาวเวอร์
ชาเขียวจากจีนชนิดนี้ใช้วิธีทอดในกระทะ ก่อนจะนำมาม้วนให้แน่นๆ เป็นลูกกลมๆ เล็กๆ
รสชาติ เข้มข้น แต่หวานที่ปลายลิ้น
เมนูพลิกแพลง แทนที่จะดื่มชาเขียวกันพาวเวอร์เพียวๆ ลองจิบน้ำซุปที่ได้จากการต้มผัก เติมชาเขียวกันพาวเวอร์หั่นลงไปในระหว่างเคี่ยว จะได้ความแปลกใหม่ที่น่าลิ้มลองเอามากๆ
เซนฉะ
เซนฉะเป็นชาเขียวที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มมากที่สุด กรรมวิธีการทำใบชาเขียวเซนฉะคือนึ่งใบชาจึงคงสีเขียวสดใสไว้ แล้วก็ม้วนกลมเหมือนเข็มเย็บผ้า
รสชาติ กลางๆ ออกไปทางหวานเล็กน้อย
เมนูพลิกแพลง หลังนวดแป้งเพื่อทำคุ๊กกี้ มัฟฟินหรือขนมปังเสร็จแล้ว ผสมใบชาเขียวเซนฉะแห้งลงไป 2 ช้อนโต๊ะ แล้วนำเข้าเตาอบตามปกติ
กูกิชา
กูกิชา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ชาก้าน" เพราะทำจากก้านชาเซนฉะกิ่งเล็กๆ นำมาหั่นฝอยผสมกับใบเคียวกุโร
รสชาติ เบา นุ่ม กรุ่นกลิ่นกิ่งไม้อบ
เมนูพลิกแพลง ใส่กูกิชาผสมน้ำที่ใช้หมักปลาหรือหอย กูกิชาจะปรับสมดุลความหวานของเนื้อปลาได้ดี โดยเฉพาะปลาแฮลลิบัท และหอยแครง
โฮจิชา
โฮจิชาทำจากใบชาเขียวที่อบจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ชาเขียวชนิดนี้มักเก็บเกี่ยวกันช่วงปลายฤดู และอบในอุณหภูมิที่สูงกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ จึงมีกาเฟอีนน้อยกว่าชาทั่วไป
รสชาติ ได้โสตสัมผัสของถั่วและการอบ
เมนูพลิกแพลง ราดชาเขียวโฮจิชาเข้มข้นบนข้าวซ้อมมือ แบ้วนำไปอบกับผักชนิดต่างๆ โรยหน้าด้วยเกาลัดหั่นชิ้นเล็กๆ
สุดยอดคุณประโยชน์ของชาเขียว
ชาเขียวได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าให้ผลดีต่อร่างกายมากมาย
สลายไขมันหน้าท้อง
คนอ้วนจะเผาผลาญไขมันบริเวณหน้าท้องจากการออกกำลังกายได้มากขึ้น 7% ถ้าดื่มชาเขียวผสมกาเฟอีนเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มกาเฟอีนชนิดอื่นๆ จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition
ทำให้ฟันแข็งแรง
ดื่มชาเขียวสองแก้วต่อวัน หรือมากกว่านี้ต่อวัน ฟันจะแข็งแรง ไม่โยกหรือหลุดได้ง่ายๆ จากผลการวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ใน Preventative Medicine
ลดค่า BMI
คนที่ดื่มชาเขียว 2-3 แก้วต่อวัน มีแนวโน้มที่จะมีค่า BMI รวมถึงน้ำหนักตัวลดลง จากผลการวิจัยของ University of Connecticut
ลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนัง
ชาเขียวสามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสื่อมจากรังสียูวีบีได้ นอกจากนี้ยังลดอัตราการเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งของเซลล์สร้างเม็ดสีได้อีกด้วย จากการทดลองกับสัตว์ที่ตีพิมพ์ใน Cancer Prevention Research
ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ดื่มชาเขียว 3 แก้วต่อวันช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดดสมองได้ 21 เปอร์เซ็นต์ จากผลการวิจัยในปี 2009
ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด
จากผลการวิจัยที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ของนักวิชาการชาวไต้หวัน ค้นพบว่าการดื่มชาเขียวมากกว่า 1 แก้วต่อวัน ช่วยลดปัจจัยการเกิดมะเร็งปอดได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือไม่ จริงๆ แล้วคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ดื่มชาเขียวทุกวัน มีอัตรเสี่ยงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชาเขียวถึง 5 เท่าด้วยกัน