จากทีวีระบบอนาล็อกสู่ ‘ดิจิตอล’
สวัสดีค่ะ เห็นมีข่าวเกี่ยวกับดิจิตอล ทีวีออกมาเยอะมาก อยากรู้ว่าจะมีผลกับทีวีปกติที่เราดูในบ้านยังไงบ้างคะ?ถือเป็นคำถามที่น่าสนใจ หลายคนคงได้เคยยินข่าวเกี่ยวกับ ‘ดิจิตอลทีวี’ มาบ้าง ขณะที่บางคนอาจไม่ทราบ เราจึงอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก่อนว่า ระบบดิจิตอลทีวี ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์ครั้งใหญ่ เดิมทีมีการใช้ระบบอนาล็อก ซึ่งรวมสัญญาณวิทยุและภาพเข้าด้วยกัน แล้วใช้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นตัวส่งสัญญาณไปยังโทรทัศน์ผ่านเสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้ง แต่ข้อเสียคือ สัญญาณถูกรบกวนง่าย ทำให้บางครั้งภาพและเสียงไม่คมชัด อีกทั้งใช้ช่วงคลื่นกว้าง จึงรองรับได้แค่หกช่อง (3, 5, 7, 9, NBT และ ThaiPBS)
ส่วนระบบดิจิตอลทีวี มาพร้อมข้อดีหลายอย่าง เริ่มจากภาพและเสียง ซึ่งมีคุณภาพเหนือกว่าระบบอนาล็อก ในรูปแบบ full HD พร้อมรองรับสื่อมัลติมีเดียยุคใหม่เต็มรูปแบบ โดยอาศัยช่วงคลื่นแคบกว่า จึงรองรับการเพิ่มช่องฟรีทีวีได้มากถึง 50 ช่องทีเดียว ที่สำคัญยังช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายส่งสัญญาณทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย หลังจากการประมูลเสร็จสิ้นลงในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ (ตามข้อมูลของกสทช. แจ้งว่า ไม่เกินต้นปี 2014) เราต้องมารอลุ้นกันว่า รายละเอียดของช่องต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับการเตรียมตัวเพื่อรองรับดิจิตอลทีวี หากใช้โทรทัศน์ระบบอนาล็อกทั่วไปในปัจจุบัน สามารถรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลได้ โดยการเชื่อมต่อกับกล่องแปลงสัญญาณ เพื่อเปลี่ยนสัญญาณจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอลตามมาตรฐาน ‘DVB-T2’ หรือหากต้องการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่พอดี ก็เลือกรุ่นที่มีระบบรับสัญญาณดิจิตอลในตัว แล้วเชื่อมต่อกับเสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้งโดยวิธีนี้จะช่วยให้สามารถรับชมรายการได้ทั้งหมด 48 ช่อง ด้วยคุณภาพความคมชัดปกติและรายละเอียดระดับสูง
สุดท้ายคือ ผู้ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณยอดนิยมอย่างจานดาวเทียมหรือกล่องเคเบิลนั้นสามารถรับชมรายการได้ทั้งหมด 36 ช่องโดยไม่รวมช่องบริการชุมชนทั้ง 12 ช่องเนื่องจากสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามภูมิภาคที่รับชม อย่างไรก็ตามแม้ระบบจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะสามารถดึงสัญญาณภาพไปให้บริการได้ แต่ควาคมชัดอาจเป็นรองวิธีการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านกล่องแปลงสัญญาณอยู่สักหน่อย